top of page

      สามีหรือภรรยาไม่จดทะเบียนสมรส  มีสิทธิเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่

                    ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1713 ได้วางหลักเกี่ยวกับบุคคลที่มีอำนาจในการร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้จัดการมรดก ได้แก่ ทายาท, ผู้มีส่วนได้เสีย และพนักงานอัยการ  กล่าวคือ จะต้องเป็นบุคคลทั้งสามนี้เท่านั้นที่มีอำนาจในการยื่นคำร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดก

                    ทายาทตามความหมายในมาตราดังกล่าว หมายถึง ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกตามกฎหมาย ซึ่งอาจจะเป็นทายาทโดยพินัยกรรม  หรือเป็นทายาทโดยธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1629 ก็ได้ โดยไล่เรียงตามลำดับศักดิ์ของทายาทลงมาตั้งแต่ผู้สืบสันดาน (บุตร), บิดามารดา, พี่น้อง, ลุงป้าน้าอา และปู่ย่าตายาย  ทั้งนี้หากเจ้ามรดกมีคู่สมรสที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย  คู่สมรสนั้นก็ถือเป็นทายาทคนหนึ่งที่มีสิทธิรับมรดกและมีสิทธิร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมได้ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1635

                    กรณีผู้มีส่วนได้เสียที่จะมีสิทธิในการร้องศาลแต่งตั้งผู้จัดการมรดกได้ มักจะเป็นกรณีที่บุคคลดังกล่าวไม่ได้มีฐานะเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกโดยตรง  แต่มีความเกี่ยวข้องในกรรมสิทธิ์ของทรัพย์มรดก เช่น เจ้าของผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดิน, คู่สมรสที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสแต่อยู่กินกันฉันสามีภรรยา, ผู้สืบสิทธิจากทายาทกรณีรับมรดกแทนที่และสืบมรดก เป็นต้น ส่วนกรณีเจ้าหนี้ของกองมรดกต้องแบ่งแยกเป็นสองกรณี คือ

                    1. หากกองมรดกยังมีทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกที่ยังมีชีวิตอยู่  เจ้าหนี้ย่อมสามารถเรียกบังคับเอาจากทายาทของกองมรดกได้อยู่แล้ว เจ้าหนี้ในกรณีนี้จึงไม่ถือเป็นผู้มีส่วนได้เสีย

                    2. หากกองมรดกไม่มีทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกหลงเหลืออยู่เลยทั้งทายาทโดยธรรมและทายาทโดยพินัยกรรม ถือว่ามรดกจะตกเป็นของแผ่นดิน  แต่แผ่นดินไม่ใช่ทายาท  เจ้าหนี้ไม่อาจบังคับชำระหนี้ได้จนกว่าจะตั้งผู้จัดการมรดกได้ กรณีนี้ถือว่าเจ้าหนี้เป็นผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกได้

                    ส่วนกรณีพนักงานอัยการเป็นผู้ร้องขอต่อศาล ในปัจจุบันเป็นภารกิจหลักของสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน สำนักงานอัยการสูงสุด  มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ และผลประโยชน์ของประชาชน ตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการ หรือเมื่อมีกรณีอันสมควร  โดยในเรื่องการแต่งตั้งผู้จัดการมรดกทางสำนักงานอัยการได้มีโครงการช่วยเหลือประชาชนในการจัดทำและยื่นคำร้องต่อศาลในกรณีที่ทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกทุกคนให้ความยินยอม ซึ่งก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับประชาชนที่ไม่มีความรู้ทางกฎหมาย และมีกำลังทรัพย์ไม่มากที่จะใช้ช่องทางดังกล่าวนี้ในการแต่งตั้งผู้จัดการมรดก

                    จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่ากฎหมายได้กำหนดตัวบุคคลผู้มีอำนาจในการร้องศาลเพื่อแต่งตั้งผู้จัดการมรดกเอาไว้อยู่แค่ 3 คนเท่านั้น คือ ทายาท, ผู้มีส่วนได้เสีย และพนักงานอัยการ  กรณีคู่สมรสที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายย่อมถือว่าเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกเสมือนทายาทคนหนึ่งตามบทบัญญัติที่คุ้มครองไว้เป็นพิเศษตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1635  แต่คู่สมรสที่อยู่กินฉันสามีภรรยา ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันจะสามารถยื่นคำร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกได้หรือไม่  จากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่าไม่มีการบัญญัติกฎหมายรองรับคุ้มครองสามีภรรยาที่ไม่ได้จดทะเบียนกันถูกต้องตามกฎหมายในเรื่องร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกเอาไว้  ดังนั้นสามีหรือภรรยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสจึงไม่มีสิทธิรับมรดกเสมือนหนึ่งเป็นทายาทตามกฎหมาย  แต่อย่างไรก็ดีหากสามีหรือภรรยาที่อยู่กินด้วยกันฉันสามีภรรยานั้นมีทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันในระหว่างที่ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน ก็จะถือว่าสามีหรือภรรยานั้นเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดก หากฝ่ายใดเสียชีวิตลงอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกของอีกฝ่ายได้ แต่ถ้าระหว่างอยู่กินกัน ไม่มีทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกัน ก็ไม่ถือเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกและเป็นผลให้ไม่สามารถร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกได้

                    ดังนั้นแล้วจากคำถามดังกล่าว  สามีหรือภรรยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันถูกต้องตามกฎหมายย่อมไม่สามารถยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้   แต่หากมีพฤติการณ์ปรากฏว่าสามีหรือภรรยาดังกล่าวในความเป็นจริงได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันฉันสามีภรรยา ทำมาหาได้ร่วมกัน ได้เงินมาก็นำมาใช้จ่ายแก่ครอบครัว หรือซื้อทรัพย์สินร่วมกัน ย่อมถือว่าสามีหรือภรรยาดังกล่าวเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกในกรณีที่อีกฝ่ายหนึ่งถึงแก่ความตาย  จึงมีสิทธิร้องขอต่อศาลเพื่อขอให้ศาลแต่งตั้งผู้จัดการมรดกได้ในฐานะผู้มีส่วนได้เสียตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713

บทบัญญัติกฎหมายที่เกี่ยวข้อง (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์)

             มาตรา ๑๖๒๙  ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา ๑๖๓๐ วรรค ๒ แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ

(๑) ผู้สืบสันดาน

(๒) บิดามารดา

(๓) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน

(๔) พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน

(๕) ปู่ ย่า ตา ยาย

(๖) ลุง ป้า น้า อา

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา ๑๖๓๕

 

                มาตรา ๑๖๓๕  ลำดับและส่วนแบ่งของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ในการรับมรดกของผู้ตายนั้น ให้เป็นไปดังต่อไปนี้

(๑) ถ้ามีทายาทตามมาตรา ๑๖๒๙ (๑) ซึ่งยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ แล้วแต่กรณี คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้น มีสิทธิได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าตนเป็นทายาทชั้นบุตร

(๒) ถ้ามีทายาทตามมาตรา ๑๖๒๙ (๓) และทายาทนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ หรือถ้าไม่มีทายาทตามมาตรา ๑๖๒๙ (๑) แต่มีทายาทตามมาตรา ๑๖๒๙ (๒) แล้วแต่กรณี คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นมีสิทธิได้รับมรดกกึ่งหนึ่ง

(๓) ถ้ามีทายาทตามมาตรา ๑๖๒๙ (๔) หรือ (๖) และทายาทนั้นยังมีชีวิตอยู่ หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ หรือมีทายาทตามมาตรา ๑๖๒๙ (๕) แล้วแต่กรณี คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ มีสิทธิได้มรดกสองส่วนในสาม

(๔) ถ้าไม่มีทายาทดังที่ระบุไว้ในมาตรา ๑๖๒๙ คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นมีสิทธิได้รับมรดกทั้งหมด

 

                มาตรา ๑๗๑๓  ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการจะร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกก็ได้ ในกรณีดังต่อไปนี้

 (๑) เมื่อเจ้ามรดกตาย ทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรมได้สูญหายไป หรืออยู่นอกราชอาณาเขต หรือเป็นผู้เยาว์

 (๒) เมื่อผู้จัดการมรดกหรือทายาทไม่สามารถ หรือไม่เต็มใจที่จะจัดการ หรือมีเหตุขัดข้องในการจัดการ หรือในการแบ่งปันมรดก

 (๓) เมื่อข้อกำหนดพินัยกรรมซึ่งตั้งผู้จัดการมรดกไว้ไม่มีผลบังคับได้ด้วยประการใด ๆ

                 การตั้งผู้จัดการมรดกนั้น ถ้ามีข้อกำหนดพินัยกรรมก็ให้ศาลตั้งตามข้อกำหนดพินัยกรรม และถ้าไม่มีข้อกำหนดพินัยกรรม ก็ให้ศาลตั้งเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกตามพฤติการณ์และโดยคำนึงถึงเจตนาของเจ้ามรดก แล้วแต่ศาลจะเห็นสมควร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1239/2554

                    ผู้มีส่วนได้เสียตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1713 นั้นไม่จำเป็นต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในฐานะทายาทโดยธรรมหรือในทางพินัยกรรมของผู้ตายโดยตรง แม้ผู้คัดค้านเป็นสามีไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย แต่ได้อยู่กินร่วมกันมานานสิบกว่าปีจนผู้ตายถึงแก่ความตาย โดยมีทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้คัดค้านกับผู้ตายมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินมีโฉนดรวม 3 แปลง ซึ่งผู้ร้องทั้งสองเบิกความรับว่า ผู้คัดค้านกับผู้ตายประกอบกิจการอู่ซ่อมรถยนต์ร่วมกัน โดยให้ผู้ร้องทั้งน้อง ๆ และหลานทำงานในอู่และรับเงินเดือนเป็นค่าจ้างผู้คัดค้านจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 ในการตั้งผู้จัดการมรดกนั้นศาลย่อมใช้ดุลพินิจคำนึงถึงความเหมาะสมประกอบกับพฤติการณ์ที่จะให้ประโยชน์แก่ทายาทและกองมรดก เมื่อเห็นว่าการให้ผู้ร้องทั้งสองและผู้คัดค้านจัดการมรดกร่วมกันน่าจะเป็นประโยชน์แก่ทายาทและกองมรดกมากกว่าให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจัดการมรดกฝ่ายเดียว ศาลย่อมตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันได้

 

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3785 - 3787/2552

                    เมื่อผู้ร้องกับผู้ตายอยู่กินฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสตามมาตรา 1457 ผู้ร้องจึงไม่เป็นทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1629 วรรคสอง แต่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าบุคคลทั้งสองอยู่ร่วมกันฉันสามีภรรยาตั้งแต่ปี 2523 จนกระทั่งผู้ตายถึงแก่ความตาย ตลอดเวลาทำมาหาได้ร่วมกัน ดังนั้นทรัพย์สินที่ร่วมกันทำมาหาได้ ผู้ร้องจึงมีส่วนได้เสียในฐานะเจ้าของรวม เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายทรัพย์สินที่บุคคลทั้งสองร่วมกันทำมาหาได้ย่อมต้องแบ่งเป็นของผู้ร้องส่วนหนึ่งและอีกส่วนหนึ่งเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย ส่วนเด็กหญิง ญ. แม้จะมิใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายก็ตาม แต่ปรากฏตามสำเนาสูติบัตรว่าผู้ตายแจ้งว่าผู้ตายเป็นบิดาของเด็กหญิง ญ. ทั้งได้นำเด็กหญิง ญ. มาเลี้ยงดูอุปการะ ส่งเสียให้เล่าเรียนและให้ใช้ชื่อสกุลของผู้ตาย พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงได้ว่าผู้ตายได้รับรองเด็กหญิง ญ. เป็นบุตร ดังนั้นเด็กหญิง ญ. จึงเป็นบุตรนอกกฎหมายซึ่งผู้ตายรับรองแล้ว ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 1627 และเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายตามมาตรา 1629 (1) ฉะนั้นผู้ร้องในฐานะส่วนตัวและฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กหญิงญ. จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตาย ผู้ร้องย่อมมีสิทธิร้องขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกได้ตามมาตรา 1713

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4355/2551

                    แม้ข้อที่ผู้ร้องเบิกความอ้างว่าผู้ร้องมีส่วนร่วมกับผู้ตายออกเงินซื้อรถยนต์พิพาทจะรับฟังไม่ได้ แต่ก็ได้ความว่าผู้ร้องแต่งงานอยู่กินฉันสามีภริยากับผู้ตายเมื่อปี 2535 และผู้ตายมีบุตรด้วยกัน 2 คน ระหว่างที่อยู่กินด้วยกันผู้ร้องทำงานที่บริษัท จ. ส่วนผู้ตายมีอาชีพทำเครื่องไฟ กรณีจึงถือว่าผู้ร้องและผู้ตายร่วมกันทำมาหากินและมีเจตนาเป็นเจ้าของในทรัพย์ที่หามาได้ในระหว่างอยู่กินด้วยกัน เมื่อผู้ตายได้รถยนต์พิพาทมาในระหว่างอยู่กินกับผู้ร้อง ผู้ร้องย่อมมีส่วนเป็นเจ้าของรถยนต์พิพาทด้วยในฐานะเจ้าของร่วม ผู้ร้องจึงมีส่วนได้เสียในรถยนต์ดังกล่าวซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายและมีสิทธิร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6827/2549

                    นอกจากผู้คัดค้านกับผู้ตายจะอยู่กินกันฉันสามีภริยาอย่างเปิดเผยตามปกติธรรมดาของสามีภริยาทั่วไปแล้ว ผู้คัดค้านยังได้เข้าค้ำจุนช่วยเหลือธุรกิจเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ของผู้ตายโดยยอมเป็นผู้ค้ำประกันในฐานะลูกหนี้ร่วมกับผู้ตายในการผ่อนชำระหนี้ภาษีอากรที่ค้างชำระอยู่อีกด้วย ซึ่งการเป็นผู้ค้ำประกันในฐานะลูกหนี้ร่วมดังกล่าว ทำให้ผู้คัดค้านย่อมมีสิทธิที่จะไล่เบี้ยจากกองมรดกของผู้ตายเพื่อต้นเงินกับดอกเบี้ยและเพื่อการที่ต้องสูญหายหรือเสียหายไปอย่างใดๆ เพราะการค้ำประกันนั้น ทั้งยังเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้บรรดาที่มีเหนือผู้ตายได้อีกด้วย ดังนั้น ผู้คัดค้านจึงเป็นบุคคลที่ต้องถูกกระทบกระเทือนสิทธิและหน้าที่อันเนื่องจากการจัดแบ่งทรัพย์มรดกของผู้ตาย จึงถือได้ว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องต่อศาลขอให้ตั้งเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 วรรคหนึ่ง

bottom of page