top of page

      บุตรบุญธรรมมีสิทธิรับมรดกหรือมีสิทธิร้องขอต่อศาลเพื่อแต่งตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่

 

 

 

          เมื่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งได้ถึงแก่ความตาย ทรัพย์สินรวมทั้งสิทธิและหน้าที่ของบุคคลนั้นย่อมตกทอดไปยังทายาท ในส่วนของทรัพย์สินอันเป็นมรดกนั้นกฎหมายกำหนดให้ตกได้แก่ทายาทตามลำดับชั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 ที่ได้บัญญัติไว้ว่า

              “ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรค 2 แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ

(1) ผู้สืบสันดาน

(2) บิดามารดา

(3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน

(4) พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน

(5) ปู่ ย่า ตา ยาย

(6) ลุง ป้า น้า อา

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา 1635”

                กรณีตาม (1) ผู้สืบสันดาน หมายถึง บุตรของผู้ตาย ให้ถือเป็นทายาทโดยธรรมลำดับแรกที่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย แต่อย่างไรก็ดี บุตรที่มีสิทธิรับมรดกตามความในมาตราดังกล่าวนี้จะต้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายด้วย กล่าวคือ เป็นบุตรที่เกิดจากบิดามารดาซึ่งได้จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย  ดังนั้นหากบิดามารดาให้กำเนิดบุตรโดยไม่ได้มีการจดทะเบียนสมรสกันจะถือว่าบุตรคนนั้นเป็นบุตรนอกสมรส มีเพียงสิทธิในการรับมรดกของมารดาเท่านั้นตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1546 แต่ไม่มีสิทธิรับมรดกของบิดา เว้นแต่จะได้มีการรับรองบุตรตามกฎหมายในภายหลัง

                ส่วนกรณี “บุตรบุญธรรม” เป็นเด็กที่ไม่ได้เกิดจากบิดาและมารดาโดยแท้ กล่าวคือ ชายและหญิงไปดำเนินการอุปถัมภ์รับเด็กมาเลี้ยง โดยไม่มีความเกี่ยวข้องกันทางสายเลือด ด้วยเหตุดังกล่าวจึงเกิดความสงสัยของประชาชนทั่วไปว่าบุตรบุญธรรมจะมีสิทธิรับมรดกของผู้รับบุตรบุญธรรม หรือจะร้องต่อศาลเพื่อขอเป็นผู้จัดการมรดกได้หรือไม่ ทั้ง ๆ ที่ผู้รับบุตรบุญธรรมไม่ได้เป็นบิดาหรือมารดาโดยกำเนิด อีกทั้งตัวบุตรบุญธรรมเองก็ไม่ได้มีเลือดเนื้อเชื้อไขเดียวกัน ความไร้ซึ่งพันธะทางสายเลือดต่อกันจะเป็นเหตุให้ตัดสิทธิในการรับมรดกหรือไม่  ซึ่งกรณีดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้บัญญัติให้ บุตรบุญธรรมมีสิทธิอยู่ในฐานะเดียวกันกับบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือ มีสิทธิรับมรดกของผู้รับบุตรบุญธรรมได้ตามกฎหมาย  แต่อย่างไรก็ดีบุตรบุญธรรมนั้นก็ต้องมีที่มาโดยชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน ดังที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/27 ได้บัญญัติหลักเกณฑ์เอาไว้ว่าการรับบุตรบุญธรรมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้จดทะเบียนตามกฎหมาย  ดังนั้นแล้วการพิจารณาสิทธิในการรับมรดกของบุตรบุญธรรม จึงต้องพิเคราะห์ดูในเรื่องของการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมว่าเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดครบถ้วนแล้วหรือไม่ โดยรายละเอียดในการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

คุณสมบัติของผู้ที่จะรับบุตรบุญธรรม และผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรม    

               1. ผู้รับบุตรบุญธรรมต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี และต้องมีอายุแก่กว่าผู้จะเป็นบุตรบุญธรรมอย่างน้อย 15 ปี

               2. ผู้เป็นบุตรบุญธรรมที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี ต้องให้ความยินยอมด้วยตนเอง

               3. ผู้เป็นบุตรบุญธรรมที่เป็นผู้เยาว์ต้องได้รับความยินยอมจาก บิดา และมารดา หรือผู้ปกครอง

               4. ผู้จะรับบุตรบุญธรรม หรือผู้จะเป็นบุตรบุญธรรม ถ้ามีคู่สมรสอยู่ต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสก่อน

               5. ผู้เยาว์ที่เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลใดอยู่จะเป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่นอีก ในขณะเดียวกันไม่ได้เว้นแต่เป็นบุตรบุญธรรมของคู่สมรสของผู้รับบุตรบุญธรรม

 

ขั้นตอนการปฏิบัติการจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม

               1. กรณีบุตรบุญธรรมเป็นผู้เยาว์ ต้องผ่านขั้นตอนของคณะกรรมการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมก่อนโดย

          - กรณีที่ผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมมีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพมหานคร หรือต่างประเทศให้ยื่นคำขอพร้อมหนังสือแสดงความยินยอมของบุคคลผู้มีอำนาจให้ความยินยอม ณ ศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม กรมประชาสงเคราะห์

                - กรณีมีภูมิลำเนาอยู่ในต่างจังหวัด ให้ยื่นคำขอพร้อมหนังสือแสดงความยินยอมของบุคคลผู้มีอำนาจให้ความยินยอม ณ ที่ว่าการอำเภอ  กิ่งอำเภอ หรือที่ทำการประชาสงเคราะห์จังหวัด

                เมื่อคณะกรรมการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมอนุมัติให้มีการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมได้ ให้นำหนังสือแจ้งคำอนุมัติของคณะกรรมการดังกล่าวไปร้องขอจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม ณ ที่ว่าการอำเภอ กิ่งอำเภอ หรือเขต แห่งใดก็ได้

 

                 2. กรณีผู้เป็นบุตรบุญธรรมที่บรรลุนิติภาวะแล้ว ผู้จะรับบุตรบุญธรรม หรือผู้จะเป็นบุตรบุญธรรมสามารถดำเนินการยื่นคำขอจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมได้ ณ ที่ว่าการอำเภอ กิ่งอำเภอ หรือเขต แห่งใดแห่งหนึ่งก็ได้ โดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนของคณะกรรมการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม

                ดังนั้นแล้ว หากมีการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ข้างต้นอย่างครบถ้วนแล้ว บุตรบุญธรรมดังกล่าวย่อมมีสิทธิรับมรดกของผู้รับบุตรบุญธรรมเสมือนหนึ่งตนเป็นผู้สืบสันดานตามกฎหมาย มีฐานะและสิทธิเท่าเทียมเหมือนบุตรแท้ ๆ คนหนึ่ง สามารถรับมรดกที่ตกทอดมาจากผู้รับบุตรบุญธรรม ผู้เป็นเจ้ามรดกได้ตามสัดส่วนที่กฎหมายกำหนดไว้ และยังมีสิทธิที่จะร้องต่อศาลเพื่อแต่งตั้งให้ตนเป็นผู้จัดการมรดกของผู้รับบุตรบุญธรรมได้

                หากท่านมีฐานะเป็นบุตรบุญธรรมและมีความประสงค์ที่จะดำเนินการร้องศาลเพื่อขอแต่งตั้งให้ตนเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดก ในเบื้องต้นต้องจัดเตรียมเอกสารเกี่ยวกับการรับรองบุตร เช่น ใบทะเบียนรับบุตรบุญธรรม เพื่อให้ทีมทนายความนำเอกสารดังกล่าวไปประกอบในสำนวนคดีเพื่อนำเสนอศาลร้องขอให้ตัวท่านเป็นผู้จัดการมรดกต่อไป

bottom of page